วันพฤหัสบดีที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2554

จุดเริ่มต้นของรถไฟไทย 1

จุดเริ่มต้นของรถไฟไทย ต้องบอกว่าเริ่มต้นตั้งแต่ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเลยทีเดียว สืบเนื่องจากการที่อังกฤษเข้ามาทำสัญญาการค้ากับประเทศไทย เซอร์ จอห์น เบาว์ริ่ง ได้นำรถไฟจำลองย่อส่วนจากของจริงมาถวายแด่ในหลวงรัชกาลที่ 4 โดนพระนางวิคตอเรีย ประมุขแห่งสหราชอาณาจักรทรงหวังให้รถไฟจำลองนี้เป็นเครื่องดลพระราชหฤทัย ให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงคิดสถาปนากิจการรถไฟขึ้น ตามแบบอย่างเช่นเดียวกับสหราชอาณาจักรบ้าง ซึ่งสร้างความสนใจในราชสำนักและประชาชนชาวไทยในสมัยนั้นเป็นอย่างยิ่ง


ต่อมาปีรัตนโกสินทรศก 105 ตรงกับปี พ.ศ. 2429  กิจการรถไฟได้ถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรก  เมื่อรัฐบาลไทยได้อนุมัติสัมปทานแก่บริษัทชาวเดนมาร์ก ให้สร้างทางรถไฟจากกรุงเทพฯ ถึงสมุทรปราการ ระยะทาง 21 กิโลเมตร  หลังจากนั้นในเดือนตุลาคม  พ.ศ. 2433  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งกรมรถไฟหลวงขึ้นสังกัดกระทรวงโยธาธิการ  และครั้นเมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2439   พระองค์จึงเสด็จทรงประกอบพระราชพิธีเปิดการเดินรถไฟระหว่างกรุงเทพฯ  - อยุธยา  ระยะทาง 71 กิโลเมตร  ซึ่งทางการได้ถือเอาวันนี้เป็นวันสถาปนากิจการรถไฟหลวง ความกว้างของรางเมื่อแรกสร้างทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นรางกว้าง  1.435 เมตร ส่วนทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเป็น รางกว้าง 1.00 เมตร  ที่สร้างเป็นรางขนาด 1.00 เมตรก็เพื่อให้มีขนาดเท่ากับประเทศเพื่อนบ้านทั้งหลาย คือ มาเลเซีย พม่า เขมร  ต่อจากนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงให้เปลี่ยนราง ขนาด 1.435 เมตร ทางฝั่งตะวันออก ที่สร้างไปแล้วทั้งหมดเป็นขนาด 1.00 เมตร ด้วยเหตุผลด้านการคมนาคมที่ต้องการให้รถขนาดเดียวกันวิ่งได้ทั่วประเทศนั่นเองครับ


Writer : Kritsada Chintanachot

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น